ไซบีเรียนฮัสกี้

ไซบีเรียนฮัสกี้ เป็นสุนัขทำงานที่มีขนาดกลาง วิ่งเร็วและฝีเท้าเบา รักอิสระ และมีท่วงท่าสง่างาม ลำตัวปกคลุมด้วยขนนุ่มและหนาปานกลาง หูตั้งและหางเป็นพวง ลักษณะการเดินนุ่มนวล แรกเริ่มทีเดียวไซบีเรียน ฮัสกี้ เป็นสุนัขที่มีความสามารถในการลากเลื่อนสิ่งของที่มีน้ำหนักเบา ด้วยความเร็วปานกลางได้ในระยะไกล สัดส่วนลำตัวและรูปร่างของไซบีเรียน ฮัสกี้ สะท้อนให้เห็นถึงสมดุลของกำลัง ความรวดเร็ว และความอดทน ไซบีเรียน ฮัสกี้ เพศผู้ได้รับการเพาะพันธุ์ (Breed) ให้มีความแข็งแรงแต่ไม่หยาบคาย ขณะที่เพศเมียมีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ ไซบีเรียน เป็นสุนัขที่มีกล้ามเนื้อแข็งแรง และได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี แต่ไม่ควรให้ลากหรือบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักมากเกินไป

ขนาด, สัดส่วน, องค์ประกอบ
ความสูง : ความสูงของเพศผู้อยู่ที่ 21 – 23 นิ้วครึ่ง ขณะที่ความสูงของเพศเมียอยู่ที่ 20-22 นิ้ว
โดยวัดจากส่วนที่สูงที่สุดของแผ่นหลัง
น้ำหนัก : เพศผู้มีน้ำหนัก 45 – 60 ปอนด์ เพศเมีย 35 – 50 ปอนด์ น้ำหนักเป็นสัดส่วนกับความสูง การวัดน้ำหนักและส่วนสูงดังกล่าวเป็นตัวแทนของส่วนสูงและน้ำหนักที่มากที่สุด โดยไม่ได้พิจารณาเงื่อนไขด้านอื่น ลักษณะของกระดูกหรือน้ำหนักที่มากเกินไปถือว่าเป็นโทษ ตามลักษณะทางโครงสร้าง ความยาวของลำตัวจากหัวไหล่ไปจนถึงด้านหลังของสะโพกยาวกว่าความสูงของลำตัวจากพื้นดิน จนจุดที่สูงที่สุดของแผ่นหลังเล็กน้อย
ลักษณะที่ไม่ดี : เพศผู้ที่มีความสูงเกิน 23 นิ้วครึ่ง และเพศเมียที่สูงกว่า 22 นิ้ว

ส่วนตัว
ลักษณะท่าทาง, การแสดงออก : ดุดัน แต่เป็นมิตร ช่างสนใจและซุกซน
ดวงตา : เป็นรูปเม็ดอัลมอนด์ เว้นระยะห่างกันปานกลาง และลาดเอียงเล็กน้อย
ดวงตาอาจจะเป็นสีน้ำตาลหรือฟ้าข้างใดข้างหนึ่งหรืออาจมีหลายสีก็ได้ ดวงตาที่ลาดเอียงมากเกินไป และอยู่ใกล้กันมากเกินไปถือว่าผิดลักษณะ
หู : มีขนาดปานกลาง เป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ใกล้กันในระยะที่เหมาะสม ตั้งตรงขึ้นไปจากศีรษะ ใบหูหนาปกคลุมด้วยขนนุ่มโค้งเล็กน้อยด้านหลังและตั้งชัน ปลายหูตั้งตรงและกลมมนเล็กน้อย หูที่ใหญ่มากเกินไปเมื่อเทียบสัดส่วนกีบศีรษะ ห่างกันมากเกินไป และไม่ตั้งชันถือว่าผิดลักษณะ
กะโหลกศีรษะ : มีขนาดกลางเมื่อเทียบสัดส่วนกับลำตัว ด้านบนกลมเล็กน้อยและเรียงลงจากจุดที่กว้างที่สุดจนถึงดวงตา ศีรษะใหญ่หรือหนัก ศีรษะเรียวเล็กเกินไปถือว่าผิดลักษณะ
หน้าผาก : ได้รูปและเชื่อมต่อไปจนถึงจมูก เป็นทางตรงจากหน้าผากจนถึงปลายจมูก หน้าผากแคบถือว่าผิดลักษณะ
ส่วนที่ยื่นของใบหน้า : มีความยาวปานกลาง เป็นระยะห่างจากปลายจมูกไปถึงหน้าผากเท่ากับระยะจาหน้าผากไปส่วนหัวด้านหลัง ส่วนที่ยื่นของใบหน้ามีความกว้างปานกลางและค่อยๆ เรียวลงไปจนจมูก ส่วนปลายไม่ชี้และไม่เป็นเหลี่ยม ส่วนที่ยื่นของใบหน้าเล็กเกินไปหรือกว้างเกินไป สั้นเกินไปหรือยาวเกินไป ถือว่าผิดลักษณะ
จมูก : สีดำเทา สีน้ำตาลเข้มหรือดำ น้ำตาลแก่ปนแดง หรืออาจเป็นสีเนื้อในสุนัขสีขาวสักสีชมพู หรือที่เรียกว่า จมูกหิมะ ก็ไม่ถือว่าผิดลักษณะ
ริมฝีปาก : มีเลือดฝาดและชิดกัน
ฟัน : ชิดกันเหมือนฟันกรรไกร ถ้าไม่ชิดกันเหมือนฟันกรรไกรถือว่าผิดลักษณะ คอ, ช่วงล่าง, ลำตัว
คอ : ความยาวปานกลาง โค้งและตั้งตรงอย่างสง่าเมื่อสุนัขยืน เมื่อวิ่งเหยาะๆ คอจะยืดและศีรษะจะเอียงไปข้างหน้าเล็กน้อย คอสั้นและหนาเกินไป คอยาวเกินไป ถือว่าผิดลักษณะ
หน้าอก : ลึกและแข็งแรงแต่ไม่กว้างเกินไป จุดที่ลึกที่สุดอยู่ด้านหลังและเป็นระดับเดียวกันกับข้อศอก กระดูกซี่โครงมั่นคงเชื่อมต่อจากกระดูกสันหลัง มีลักษณะแบนด้านข้างเพื่อให้เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ หน้าอกกว้างเกินไป โดยเป็นรูปทรงกระบอก กระดูกซี่โครงแบนหรืออ่อนเกินไป ถือว่าผิดลักษณะ
หลัง : หลังตรงมั่นคง เริ่มจากระดับของช่วงตัวจากส่วนที่สูงที่สุดของแผ่นหลัง จนถึงส่วนที่สูงที่สุดของสะโพก มีความยาวปานกลาง หลังไม่สั้น และไม่เหยียดเกินไป เนื้อส่วนสะโพกไม่มีไขมัน สะโพกลาดเอียงออกจากกระดูกสันหลัง แต่ไม่ชันจนไปทิ่มขาหลัง หลังบอบบางหรือเหยียดถือว่าผิดลักษณะ
หาง : ขนตรงเป็นพวงแบบสุนัขจิ้งจอก หางอยู่ที่ระดับของก้น ตามปกติหางจะอยู่เหนือแผ่นหลังโค้งเป็นรูปเคียวสวยงามเมื่อสุนัขยืนตรง เมื่อสุนัขเคลื่อนไหว หางไม่ม้วนไปด้านใดด้านหนึ่งของลำตัว และไม่กระทบกับแผ่นหลัง หางจะทอดยาวเป็นปกติเมื่อสุนัขนอนหลับ ขนหางมีความยาวปานกลาง และมีขนยาวใกล้เคียงทั้งขนด้านบน ด้านข้าง และด้านล่าง ส่งผลหางเป็นพวงกลม หางม้วนแน่น ขนตั้งสูง หางอยู่ต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป ถือว่าผิดลักษณะ
ส่วนหน้า
ไหล่ : กระดูกหัวไหล่เอนลงด้านหลัง มุมต้นแขนสูงขึ้นไปทางด้านหลังเล็กน้อยจากไหล่ไปจนถึงข้อศอก และไม่ตั้งฉากกับพื้นดิน กล้ามเนื้อและเอ็นยึดไหล่ต่อตัวโดยกระดูกที่แข็งแรงและมั่นคง ไหล่หุบ ไหล่กว้างถือว่าผิดลักษณะ
ขาหน้า : เมื่อยืนและมองจากด้านหน้า ขามีช่องว่างห่างกันเล็กน้อย ขนานและตั้งตรง ข้อศอกติดกับลำตัว ไม่งอเข้างอออก เมื่อมองจากด้านข้างฝ่าเท้าลาดเอียงเล็กน้อย และเชื่อมต่อกันอย่างมั่นคงแต่ยืดหยุ่น กระดูกหนาแต่ไม่หนัก ความยาวของขาจากข้อศอกถึงพื้นดินมากเท่าระยะจากข้อศอกถึงส่วนที่สูงที่สุดของแผ่นหลังเล็กน้อย นิ้วเท้าของขาหน้าถูกแยกออกจากกัน นิ้วเท้าบอบบาง บรรทุกหนักมากเกินไป ช่วงห่างระหว่างขาหน้าทั้งสองขาแคบเกินไปหรือกว้างเกินไป ขาแยกออกจากข้อซอกถือว่าผิดลักษณะ
เท้า : เป็นรูปวงรีแต่ไม่ยาว อุ้งเท้ามีขนาดกลาง กะทัดรัด มีขนขึ้นระหว่างนิ้วเท้า และเนื้อบริเวณเท้า เนื้อบริเวณเท้าหยาบและหนา อุ้งเท้าไม่หันเข้าหันออกเมื่อ ไซบีเรียนอยู่ในท่ายืนธรรมชาติ นิ้วเท้านุ่มหรือแบ อุ้งเท้าใหญ่มากเกินไปและเก้งก้าง อุ้งเท้าเล็กมากเกินไปและนุ่ม ปลายเท้าหันออกถือว่าผิดลักษณะ
ส่วนหลัง
เมื่อยืนและมองจากด้านหลัง ขาหลังมีระยะห่างกันปานกลางและขนานกัน ต้นขาท่อนบนเป็นมัดกล้ามและแข็งแรง กระดูกข้อต่อโค้งได้รูป ข้อเท้าเชื่อมต่อกันแน่น และตั้งต่ำลงสู่พื้นดิน นิ้วเท้าแยกจากกัน กระดูกข้อต่อตั้งตรง ช่องว่างระหว่างขาหลัง 2 ขาแคบ
ขน
ไซบีเรียนมีขน 2 ชั้นและมีความยาวปานกลาง ขนไม่ยาวจนไม่สามารถทำความสะอาดได้ ขนชั้นในนุ่มหนาและมีความยาวพอที่จะพยุงขนชั้นนอก ขนชั้นนอกตรงและบางส่วนเหยียดเรียบไม่หยาบหรือไม่ตั้งตรงจากลำตัว น่าสังเกตว่าการไม่มีขนชันในช่วงฤดูผลัดขนถือเป็นเรื่องปกติ การตัดแต่งขนบริเวณหนวด ขนระหว่างนิ้วเท้าและรอบๆ เท้า ส่งผลให้ลักษณะภายนอกดูเรียบร้อยมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และไม่ถือว่าผิดลักษณะ การตัดแต่งในส่วนอื่นๆ ของสุนัขไม่เป็นที่ยอมรับและถือว่าผิดร้ายแรง ขนยาวสากหรือหยาบ เส้นขนหยาบเกินไปหรือนุ่มเกินไป การตัดแต่งขนนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ข้างต้นถือว่าผิดลักษณะ
สี
ไซบีเรียน ฮัสกี้ ที่ถูกลักษณะมีทุกสีตั้งแต่สีดำไปจนถึงสีขาวบริสุทธิ์ แต้มหรือตำหนิบนศีรษะ รวมทั้งรูปแบบของรอบประทับอื่นๆ ที่ไม่พบในสายพันธุ์อื่นเป็นเรื่องปกติ
การเดิน
ลักษณะการเดินของสุนัขพันธ์ไซบีเรียน ฮัสกี้ นุ่มนวลและดูเหมือนไม่ออกแรงสักเท่าไร เท้าเร็วและเบา เมื่ออยู่ในการแสดงการย่างก้าวห่างๆ และเดินด้วยความเร็วปานกลาง ขาหน้าเดินนำได้ดี ขณะที่ขาหลังคอยขับเคลื่อน เมื่อมองจากด้านหน้าไปจนถึงด้านหลัง ในขณะเดิน ไซบีเรียนจะไม่เดินอย่างเดียวแต่จะเพิ่มความเร็วทีละน้อยจากขา ข้อต่อด้านในจนกระทั่งฝ่าเท้าจมลงพื้น ไซบีเรียนเดินเป็นเส้นตรงตามความยาวของกลางลำตัว ขณะที่ฝ่าเท้าแตะพื้นขาหน้าและขาหลังจะมุ่งตรงไปข้างหน้า แต่ข้อศอกหรือกระดูกข้อต่อไม่งอเข้าหรืองอออก ขาหลังแต่ละข้างเคลื่อนไหวตามรอยขาหน้าของขาข้างเดียวกัน ขณะที่สุนัขกำลังเดินส่วนล่างยังมั่นคงและเป็นระดับเดียวกัน เดินก้าวสั้น กระโดดไปมาหรือเดินวนไปวนมา เดินงุ่มง่ามหรือเดินเป็นวงกลม เดินไขว้ไปมาหรือเดินเอียงถือว่าผิดลักษณะ

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ สุนัข ขี้เล่น

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ สุนัข ขี้เล่น

 

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์




           โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever) สุนัข พันธุ์นี้เป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลก เรามักจะได้เห็น สุนัขพันธุ์โกลเด้น จากโฆษณาหรือภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง ที่มีรูปร่างท่วงท่าสวยงาม หน้าตาน่ารัก ใจดี ขี้เล่น ขนยาวสีเหลืองทอง แถมยังเป็น สุนัข ฉลาด พูดรู้เรื่อง เชื่อฟังคำสั่ง จึงทำให้หลายคนเกิดติดใจอยากหา โกลเด้น มาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคู่ใจสักตัว ขณะที่หลายคนก็อาจตกหลุมรัก สุนัข พันธุ์นี้ จนมีไว้ในครอบครองหลายตัวแล้วก็ได้
โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอังกฤษและสก๊อตแลนด์ โดยมีการบันทึกไว้ในช่วงทศวรรษที่ 1860 ซึ่งบันทึกไว้ว่าได้มีคณะละครสัตว์ของรัฐเซีย ได้นำฝูง สุนัข มาแสดง จนทำให้ท่านลอร์ด ทวีดมัธ ( Lord Tweedmouth ) รู้สึกประทับใจ จึงได้ทำการขอซื้อไว้แล้วนำมาผสมพันธุ์หลายชั่วอายุ จึงได้สายพันธุ์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ในที่สุด แต่การนำมาผสมกับสายพันธุ์ไหนนั้นยังไม่มีหลักฐานสรุปที่แน่นอน แต่มีการสันนิษฐานว่า โกลเด้น มีสายเลือดผสมระหว่างสุนัขพันธุ์ Yellow Flat-Coated Retriever และ Light-Coated Tweed Water Spaniels และอาจจะมีสายพันธุ์ของ Newfoundland หรือ Bloodhound ผสมอยู่ด้วย

ทั้งนี้ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็น สุนัข ที่มีความเชี่ยวชาญทางน้ำ โดยแต่เดิมเป็น สุนัข ที่ใช้ในกีฬาล่าสัตว์ นายพรานจะใช้ โกลเด้น ไปเก็บเป็ดน้ำที่ยิงได้กลับมา เนื่องจากมีประสาทสัมผัสดีเลิศทั้งในด้านของการฟังเสียง การดมกลิ่นสะกดรอย นอกจากนี้ โกลเด้น ยังมีสายตาอันเฉียบคมและแม่นยำ ด้วยเหตุนี้วงการทหารและตำรวจในหลายๆ ประเทศจึงได้นำ สุนัขพันธุ์โกลเด้น นี้มาฝึกเพื่อไว้ช่วยงานราชการ อาทิเช่น ตรวจค้นยาเสพติด, ดมกลิ่นสะกดรอยคนร้าย, ยามรักษาความปลอดภัย แต่ที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมสูงสุด ก็เห็นจะได้แก่ฝึกให้เป็น สุนัข นำทางคนตาบอด ทั้งนี้เพราะ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็นสุนัขฉลาด และสุภาพ
โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ หรือที่บางคนเรียก เยลโล่ รีทรีฟเวอร์ ( YELLOW RETRIEVER ) เป็นที่รู้จักและนิยมเลี้ยงกันแพร่หลายในประเทศอังกฤษ จนในปี ค.ศ. 1930 โกลเด้น ก็เริ่มเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกา โดยยุคนั้นชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะเลี้ยง โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ไว้เพื่อเป็นนักล่า

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1977 ได้จัดให้มีการประกวดความสามารถและความฉลาดแสนรู้ของ สุนัข ซึ่งผลปรากฏว่า สุนัข ที่ได้รางวัลที่ 1-3 ล้วนเป็น สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ทั้งสิ้น จากผลการประกวดในครั้งนั้นทำให้ชาวอเมริกันเริ่มเกิดความตื่นตัว และหันมาให้ความสนใจเลี้ยง สุนัขพันธุ์โกลเด้น เป็น สัตว์เลี้ยง กันมากขึ้น

ลักษณะทั่วไปของ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็น สุนัข ในกลุ่มกีฬา (Sporting Group) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้งานในกีฬาล่าสัตว์ เป็น สุนัข ขนาดกลาง มีอายุเฉลี่ย 12 – 14 ปี ตัวผู้สูงราว 23-24 นิ้ว หนักประมาณ 64-70 ปอนด์ ตัวเมีย สูง 21-23 นิ้ว น้ำหนัก 60-70 ปอนด์ มีสีหลายระดับสี มักจะเป็นสีออกครีมถึงสีเหลืองทอง จนถึงกึ่งเข้มแดงมะฮอกกานี เป็น สุนัข ที่มีลักษณะหัวกว้าง และมีช่วงปากที่แข็งแรง ตาสีน้ำตาล หูค่อนข้างใหญ่เป็นรูปสามเหลี่ยม ปรกลงมาด้านข้าง มีขน 2 แบบ คือเรียบกับเป็นลอน ขนชั้นนอกแน่น เงา หยิกเป็นลอนเล็กน้อย และราบเรียบไปตามลำตัว กันน้ำได้ดี ขนชั้นในแน่น และกันน้ำได้ดีเช่นเดียวกัน มีขนปุกปุยหนาแน่นบริเวณคอ ขาหน้าตรงแข็งแรง เท้ากลมคล้ายเท้าแมว

โครงสร้างลำตัวของ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ จะสั้นกระชับได้สัดส่วน อกลึกและกว้าง ความลึกของอกลึกเสมอข้อศอกขาหน้า ลำตัวเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ช่วงรอยต่อระหว่างจมูก ปาก และหน้าผาก มีความลาดเล็กน้อยไม่ถึงกับหัก สันจมูกเป็นเส้นตรง หนังย่นบริเวณหน้าผากอนุโลมให้มีได้ หนังบริเวณใบหน้าเรียบตึง ฟันมีลักษณะขบกันได้สนิท โดยฟันหน้าบนขบเกยอยู่ด้านนอก ส่วนจมูกมีสีดำหรือน้ำตาลดำ ลักษณะของหูสั้นพอประมาณ ใบหูห้อยปรกลงแนบกับส่วนแก้ม และหางอยู่ในตำแหน่งสูงสุดต่อจากเส้นหลังและหางมีขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่บริเวณโคนหาง


โกลเด้น รีทรีฟเวอร์


อุปนิสัยของ สุนัข โกลเด้น รีทรีฟเวอร์

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ามี สุนัข น้อยพันธุ์นักที่จะมีนิสัยสุภาพ น่ารัก มีเสน่ห์ ขี้เล่น ช่างประจบเอาใจ และเสียสละรักเจ้าของได้เท่ากับ สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ นี้ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็น สุนัข ที่ใจดี ชอบอยู่กับคนและสัตว์อื่น มีมนุษย์สัมพันธ์ดี สามารถปล่อยให้เป็นเพื่อนเล่นกับเด็กๆ หรือลูกหลานได้อย่างสบายใจ ค่อนข้างติดคนหรืออยากให้เจ้าของสนใจเสียจนบางครั้งอาจรู้สึกว่าน่ารำคาญ
นอกจากนี้ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ยังเป็น สุนัข ที่ฝึกง่าย แต่ควรเริ่มฝึก โกลเด้น เสียแต่เนิ่นๆ แต่ก็มีบางตัวที่ขี้ตกใจ เป็นกระต่ายตื่นตูม ดังนั้น การฝึกที่นุ่มนวลและมีแรงจูงใจที่ดีจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ โกลเด้น ชอบเห่าเมื่อมีคนอยู่หน้าประตูบ้าน แต่มีบ่อยครั้งที่การเห่านั้นเป็นการแสดงการทักทาย มิใช่การขู่ เจ้าของควรทำรั้วล้อมรอบบริเวณบ้านให้ดี เพราะถ้าขืนปล่อย สุนัข พันธุ์นี้ให้เป็นอิสระมากไป มันจะหนีออกไปข้างนอกบ้านและคุณคงต้องตามหามันจนเหนื่อย เนื่องจาก โกลเด้น มีนิสัยชอบเที่ยว ชอบผจญภัยเอามากๆ

อาหารและการเลี้ยงดู สุนัข โกลเด้น รีทรีฟเวอร์

โกลเด้น เป็น สุนัข ที่มีขนร่วงมาก จำเป็นจะต้องแปรงและหวีขนให้มันสัปดาห์ละหลายๆ ครั้ง โกลเด้น จะมีความสุขมากๆ หากเจ้าของพามันไปเดินเล่นไกลๆ ทุกวันหรือหาสนามโล่งๆ ให้ได้วิ่งเล่นแบบสบายๆ ไร้กังวล ได้เล่นกับ สุนัข ตัวอื่น วิ่งเก็บลูกบอล หรือว่ายน้ำ

และด้วยความที่ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ มีต้นกำเนิดมาเพื่อล่าสัตว์ที่อยู่ริมน้ำ ดังนั้น บุคลิกที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ สุนัข พันธุ์นี้คือ ชอบลงไปในบริเวณที่มีน้ำขังอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ กระถางบัว บ่อปลา หรือแม้แต่ชามใส่น้ำของตัวมันเอง จึงขอแนะนำให้หาอ่างน้ำ หรือภาชนะใดๆ ใส่น้ำไว้สำหรับให้เขาเล่นโดยเฉพาะ
ส่วนอาหารที่ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ขนาดโตเต็มวัยต้องการควรเป็นอาหารชั้นดี โดยให้เพียงวันละ 1 ครั้งในปริมาณที่เพียงพอ และในระหว่างวันอาจให้บิสกิตเสริมได้วันละ 2 ครั้ง

บริเวณสำหรับนอนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ โกลเด้น ต้องการผ้าปูรองนอนนุ่มๆ หาของเล่นส่วนตัวสักชิ้นสองชิ้นที่มันสามารถกัดแทะได้ เช่น กระดูกเทียม หรือลูกบอลยางวางไว้รอบตัวให้มันด้วย จะช่วยให้ โกลเด้น มีที่สงบและปลอดภัย สำหรับช่วงเวลาที่พวกมันต้องการความเป็นส่วนตัวและต้องการพักผ่อน นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงยังต้องดูแลเรื่องความสะอาดภายในใบหู ดูแลเรื่องเห็บและหมัด รวมทั้งตัดเล็บให้มันอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้วิ่งและกระโดดง่ายขึ้น


โรคและวิธีการป้องกัน

โรคประจำสายพันธุ์ โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ที่พบบ่อยๆ คือ โรคข้อสะโพก โรคต้อกระจก โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ โรคเนื้องอกในต่อมน้ำเหลือง
โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Dysplasia ) เป็นโรคกระดูกที่พบได้มากในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ( Giant and large breed ) โดยพบมากถึง 1 ใน 3 ของโรคกระดูกทั้งหมดใน สุนัข โดยโรคนี้จะมีพัฒนาการในช่วงที่มีการเจริญเติบโต ของกระดูกจึงอาจพบได้ตั้งแต่ 4-12 เดือน

โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ กล่าวคือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ และก่อให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ของร่างกายโดยแสดงออกทางผิวหนัง อาการที่พบคือ สุนัข จะมีอาการขนร่วง เช่น ข้างลำตัว รอบก้นและหาง หน้าอก ใน สุนัข อายุมากมักพบรังแคกระจายทั่วร่างกาย อาจพบผิวหนังมีเม็ดสีสะสม มักพบเป็นสีดำ อาจมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ อ่อนเพลีย ซึ่งโรคนี้มักพบใน สุนัข อายุ 6-10 ปี แต่ถ้าเป็น สุนัข พันธุ์ใหญ่สามารถพบในอายุน้อยกว่า 6 ปีได้ ดังนั้น หาก สุนัข ของคุณมีอาการดังนี้ แนะนำให้พา สุนัข มาตรวจกับสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาจะดีที่สุด

โรคเนื้องอกในต่อมน้ำเหลือง พบได้ทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงและชนิดที่เป็นมะเร็ง ลักษณะที่พบคือ เป็นเนื้องอกขอบไม่เรียบและมีสีต่างๆ สามารถพบเนื้องอกที่บริเวณผิวหนังของศีรษะ ปลายเท้า หลัง และภายในช่องปาก ซึ่งโดยมากแล้วมักพบในช่องปากของสุนัข โดย สุนัข จะมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ มีกลิ่นปาก น้ำหนักลด มีเลือดออก ฟันหลุด และไม่สามารถกินอาหารได้ ซึ่งหากผู้เลี้ยงพบอาการดังกล่าวมานี้ ควรรีบพา สุนัข ไปรักษาโดยเร็ว เพราะหากเป็นเนื้องอกชนิดที่มีเชื้อมะเร็ง จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง การรักษาทำได้โดยการผ่าตัดกรณีเชื้อยังไม่แพร่กระจาย แต่หากเชื้อแพร่กระจายแล้วจะใช้วิธีเคมีบำบัด

โรคต้อกระจก มักเกิดกับ สุนัข ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยจะมองเห็นแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว ซึ่ง สุนัข ยังพอมองเห็นได้ แต่ถ้าแก้วตาขุ่นเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้มองไม่เห็น เนื่องจากแสงไม่สามารถผ่านเข้าไปยังจอรับภาพได้ ทั้งนี้สาเหตุเป็นเพราะโรคเบาหวาน หรือได้รับบาดเจ็บ มีแผลที่ตา อย่างไรก็ตาม โรคต้อกระจกอาจจะพบได้ใน สุนัข อายุน้อยตั้งแต่เกิดจนถึง 3 ปี เนื่องจากเป็นมาตั้งแต่เกิด สำหรับการรักษา ควรรีบพา สุนัข ของคุณไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาทันที หากปล่อยทิ้งไว้นาน จะทำให้การรักษายากขึ้น และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

ปอมเมอเรเดียน

ปอมเมอเรเนียน




ปอมเมอเรเนียน




หากพูดถึง สุนัข ตัวเล็กๆ ขนฟูๆ หางเป็นพวง จมูกแหลมๆ ตาแป๋วเป็นประกาย แน่นอนว่าสุนัขที่ว่านี้คือพันธุ์ ปอมเมอเรเนียน ที่ไม่ว่าใครเห็นเป็นต้องขอจับ ขอสัมผัส ความน่ารักกันใกล้ๆ แต่ที่เห็นน่ารัก ดูบอบบางเหมือนคุณหนูแบบนี้ แท้จริงแล้ว ปอมเมอเรเนียน มีต้นตระกูลมาจาก สุนัข ลากเลื่อนของประเทศไอซ์แลนด์และเลปแลนด์ บริเวณตอนเหนือของทวีปยุโรปโน่นแน่ะ
ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข ที่ชอบเอาใจใส่กับสิ่งภายนอก เฉลียวฉลาด เหมาะสำหรับเลี้ยงเป็นเพื่อนพอๆ กับเลี้ยงเพื่อการแข่งขัน ชื่อของ ปอมเมอเรเนียน มาจาก Pomeranian ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโปแลนด์และประเทศเยอรมันตะวันออก เหนือแถบทะเลบอลติก โดยแต่เดิมนั้น ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข พันธุ์ใหญ่ที่ใช้ลากเลื่อนและเฝ้าฝูงแกะ มีรายงานว่า ปอมเมอเรเนียน ที่ถูกนำเข้ามาในอังกฤษตัวแรกมีน้ำหนักถึง 30 ปอนด์ แต่ต่อมาได้มีผู้ผสมพันธุ์ ปอมเมอเรเนียน ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคู่ใจแทนการใช้งาน

ทั้งนี้ ปอมเมอเรเนียน เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อสมเด็จพระราชินี วิคเตอเรีย แห่งอังกฤษ ทรงไปพบ สุนัข พันธุ์นี้และนำกลับมาเลี้ยงในพระราชวังด้วย ซึ่งมีเรื่องเล่ากันว่าควีนวิคตอเรียทรงโปรด สุนัข ปอมเมอเรเนียน มาก แม้กระทั่งวันที่สิ้นพระชนม์ยังทรงให้เอาเจ้า Turi สุนัข ปอมเมอเรเนียน ตัวโปรดมาไว้ข้างพระแท่นบรรทม และเจ้า Turi นี้ก็ได้นอนเฝ้าอยู่จนควีนสิ้นพระชนม์ จึงทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นผู้ที่ทำให้สาธารณชนรู้จักและนิยมเลี้ยง ปอมเมอเรเนียน ตัวเล็ก

อย่างไรก็ตาม ปอมเมอเรเนียน ที่ถูกพัฒนาจนเล็กลงอย่างที่นิยมเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลงานการพัฒนาของนักผสมพันธุ์ สุนัข ชาวอเมริกา จึงไม่น่าแปลกใจที่ ปอมเมอเรเนียน สายพันธุ์จากอเมริกาได้รับการยอมรับให้เป็นสายพันธุ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด

ลักษณะสายพันธุ์ สุนัข ปอมเมอเรเนียน

ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข ที่มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4-6 ปอนด์ หรือราว 1.7-2.5 กิโลกรัม ถ้านำหนักน้อยหรือมากกว่านี้ จะถือว่าไม่ได้มาตรฐานสายพันธุ์ เป็น สุนัข ที่ว่องไวปราดเปรียว มีขนชั้นในที่แน่นและนุ่ม และมีขนชั้นนอกที่หยาบกว่าชั้นใน หางสวยงามเป็นพวงขน และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูง หางจะขนานไปกับหลัง โดยลักษณะนิสัยพื้นฐานของ ปอมเมอเรเนียน นี้ คือ จะตื่นตัวเสมอ เห่าเก่ง มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น อวดดี สง่างาม และขณะก้าวย่างแสดงถึงความมีชีวิตชีวา เป็นพันธุ์สมบูรณ์ทั้งรูปร่างและการเคลื่อนไหว

ศีรษะ
ศีรษะจะสมดุลได้สัดส่วนกับลำตัว จมูกยาวเล็กน้อย ตรง มองเห็นชัดเจน ปลายจมูกเชิดเป็นอิสระจากริมฝีปาก การแสดงออกของใบหน้าจะสดใส ร่าเริง คล้ายใบหน้า สุนัข จิ้งจอก หรืออีกนัยหนึ่งคือใบหน้าที่ฉลาดแกมโกง เจ้าเล่ห์ กะโหลกจะปิดสนิท ด้านบนสุดของกะโหลกจะกลมเล็กน้อย แต่ไม่เป็นรูปโดมซะทีเดียว เมื่อมองจากด้านหน้าและด้านข้าง จะเห็นใบหูที่ค่อนข้างเล็ก เชิดสูงและตั้งตรงเสมอ เมื่อลากเส้นผ่านปลายจมูกไปยังตรงกลางตาไปยังปลายหูจะได้เส้นตรง นัยน์ตาเป็นสีดำ แววตาสดใสรูปร่างอัลมอนด์ ขนาดปานกลางตั้งอยู่ในตำแหน่งตัวกับกะโหลก นัยน์ตาค่อนข้างชัดเจน ขอบตาและจมูกต้องเป็นสีดำ ยกเว้น ปอมเมอเรเนียน สีน้ำตาล และสีน้ำเงิน (เทา) ฟันสบกันแบบกรรไกร ถ้ามีฟันซี่ใดซี่หนึ่งไม่ตรงก็ยอมรับได้

ลำตัว ลำคอ

ลำคอสั้น โดยศีรษะแทบจะติดกับไหล่ ส่วนหลังนั้น ลำตัวกระชับและกะทัดรัด มีซี่โครงและช่วงอกที่ทำงานได้ดี โดยยื่นไปถึงข้อศอก หางดีเป็นพวง เป็นลักษณะเฉพาะพันธุ์ โดยจะขนานไปกับลำตัวส่วนหลัง

ลำตัวส่วนหน้า
ลำตัวส่วนหลังจะเป็นตัวชูให้ลำคอ และศีรษะอยู่สูง แสดงถึงความผ่าเผย ไหล่และขามีกล้ามเนื้อปานกลาง ความยาวของใบไหล่ และต้นแขนจะเท่ากัน ขาหน้าจะตรงและขนานกับความสูงจากศอกถึงตะโหนก เท่ากับความสูงจากศอกถึงพื้น ข้อเท้าตรงและแข็งแรง เท้าได้รูปหุบสนิท ไม่บิดเข้าหรือบิดออก ขณะยืนจะรับน้ำหนักตัวได้ดี อาจต้องมีการตัดนิ้วติ่ง

ลำตัวส่วนท้าย

มุมของลำตัวส่วนท้ายจะสมดุลกับลำตัวส่วนหน้า สะโพกสวย ต้นขามีกล้ามเนื้อปานกลาง ข้อเท้าบิดเล็กน้อย ข้อเท้าได้ฉากกับพื้น และขาจะตรงและขนานกับอีกข้าง ขอบเท้าชัดเจน เท้าหุบสนิท ไม่บิดเข้าหรือบิดออก สุนัขยืนอยู่บนนิ้วเท้าได้อย่างดี อาจต้องมีการตัดนิ้วติ่ง

การก้าวย่าง และเคลื่อนไหว

ปอมเมอเรเนียน มีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวล เป็นอิสระ สมดุลและกระฉับกระเฉง มีแรงส่งตัวไปด้านหน้าได้ดี เพราะมีแรงขับจากลำตัวส่วนท้าย ขาหลังจะเดินตามรอยขาหน้าในข้างเดียวกัน เป็นการเดินและเคลื่อนไหวที่สมดุล ขณะเคลื่อนไหวจะไม่มีการเหวี่ยงเท้าเข้าหรือออกจากลำตัว ลำตัวด้านบนยังคงได้ระดับ ซึ่งดูแล้วลักษณะทั้งหมดจะสมดุล

ขนและสีขน
ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข ที่มีขนสองชั้น ขนชั้นในนิ่มและแน่น ขนชั้นนอกจะยาวตรงหยาบกว่า แต่จะส่องแสงแวววาว ขนชั้นในจะหนาเพื่อปกป้องลำตัวของ สุนัข โดยขนจะแน่นตั้งแต่ลำคอ ไหล่ และอก ขนชั้นนอกบริเวณไหล่ อก ค่อนข้างมาก ขนบริเวณศีรษะและขาจะน้อยและสั้นกว่าส่วนอื่น (โดยเฉพาะลำตัวและไหล่จะยาวที่สุด) ลำตัวส่วนหน้าจะมีขนปกคลุมไปจนถึงข้อเท้าหางจะมีขนชั้นนอกที่ยาว แข็ง ปกคลุม อาจต้องมีการตัดเล็มขนบ้างซึ่งยอมรับได้

ส่วนมีสีขนของ ปอมเมอเรเนียน จะมีหลายสี หลายแบบ เช่น ดำและน้ำตาล สีผสมหรือสีทองออกส้ม สีขาว ที่มีสีอื่นร่วมบริเวณศีรษะ หรืออีกประเภทที่เรียกว่า open elasses คือจะมีสีแดง สีส้ม สีครีม สีดำ สีน้ำตาล สีเทา เป็นต้น


อาหารและการเลี้ยงดู ปอมเมอเรเนียน

การดูแลขนของ ปอมเมอเรเนียน ต้องได้รับการแปรงขนทุกวันหรืออาทิตย์ละสองครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่จะให้ขนที่หนาและสวยไม่พันกัน ขนของ ปอมเมอเรเนียน ต้องการการเล็มบ้างแค่ครั้งคราว ส่วนการดูแลหูและเล็บเป็นประจำเป็นสิ่งที่แนะนำรวมกับการอาบน้ำ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรอาบน้ำให้ ปอมเมอเรเนียน บ่อยมากจนเกินไป เพราะการอาบน้ำบ่อยจะทำให้หนังและขนเแห้งจนเกินไป เนื่องจากน้ำมันที่จำเป็นถูกล้างออกไปหมด

นอกจากการดูแลขนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่มากที่สุดสำหรับ สุนัข ปอมเมอเรเนียน คือการได้รับการดูแลสุขภาพปากและฟันเป็นอย่างดี เนื่องจาก ปอมเมอเรเนียน ง่ายต่อการสูญเสียฟันอันเนื่องมาจากปัญหาฟันผุ หรือสุขภาพเหงือกไม่ดี จึงต้องมั่นทำความสะอาดฟันให้เป็นประจำ และควรให้อาหารชนิดแห้งเพื่อลดปัญหาสุขภาพปากและฟัน


โรคและวิธีป้องกัน

สุนัข แต่ละพันธุ์มีโรคประจำที่แตกต่างกันออกไป เช่น สุนัข พันธุ์โกลเด้น ก็มีปัญหาโรคข้อสะโพกเสื่อม สุนัข พันธุ์คอกเกอร์ สเปเนียล ก็พบปัญหาเรื่องโรคหูอักเสบ สุนัข พันธุ์พุดเดิ้ลก็มีปัญหาโรคหัวใจโต สุนัข พันธุ์ดัลเมเชี่ยนก็เจอโรคหูหนวก สุนัข พันธุ์ดัชชุน ก็มีปัญหาโรคหมอนรองกระดูก ฯลฯ ปอมเมอเรเนียน ก็มีปัญหาเหมือนกัน โดยมี 4 โรคที่ ปอมเมอเรเนียน พึงสังวรไว้ คือ

1. โรคลูกสะบ้าเคลื่อน โรคนี้พบได้บ่อยสุด คือ มีอาการเจ็บเข่าจนต้องยกขาไม่ลง ถ้าไม่เป็นมาก ก็รักษาด้วยการกินยา แต่ถ้าเป็นมากต้องพึ่งหมอผ่าตัด อย่างไรก็ดี โรคนี้ป้องกันได้โดยอย่าปล่อยให้ ปอมเมอเรเนียน ของเราอ้วนเกินไป และคอยดูแลไม่ให้เขาหล่นหรือโดดลงจากที่สูง ส่วนสถานที่ที่เลี้ยงนั้นไม่ควรเป็นพื้นลื่นจำพวกกระเบื้อง พื้นหินขัด,หินอ่อน หรือแกรนิต ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้ ปอมเมอเรเนียน ที่มีปัญหาลูกสะบ้าขยายพันธุ์

2. โรคหลอดลมตับ เป็นอีกโรคมักพบบ่อยๆ ใน ปอมเมอเรเนียน อาการที่พบ คือ ไอแห้งๆ เสียงดังมาก ซึ่งพบบ่อยเวลาที่ตื่นเต้นหรืออากาศเย็น ดังนั้น จึงอย่าปล่อยให้มันอ้วนเกินไป และพยายามอย่าให้เขาอยู่ในที่ที่อากาศร้อนและชื้นเกินไป และที่สำคัญเวลาจูงเดินเล่นควรใช้สายจูงชนิดสายรัดอก แทนสายจูงกับปลอกคอหรือโซ่คอ

3. ขนร่วง ปัญหาโรคขนร่วงที่พยบ่อยใน ปอมเมอเรเนียน ก็คือโรค Black Skin หรือ BSD ซึ่งทำให้ผิวหนังไม่มีขนและมีจี้ดำ เกิดจากหลายสาเหตุรวมกัน เช่น โรคไทรอยด์ต่ำ,ZEMA,ไรขี้เรื้อนและเชื้อรา ซึ่งวิธีแก้ไข คือ ควรรีบพา สุนัข ที่มีปัญหาโรคผิวแห้งไปพบสัตว์แพทย์โดยเร็ว

4. โรคหนังตาม้วนเข้า โรคนี้สามารถพบใน สุนัข ปอมเมอเรเนียน แต่ไม่พบบ่อยเหมือน สุนัข พันธุ์เชาว์-เชาว์ หรือชาร์ไป ซึ่งวิธีแก้ไขคือต้องทำการผ่าตัดโดยสัตวแพทย์

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

สุนัขชิสุ

สุนัข ชิสุ เจ้าหมาบ่องแบ๊ว


สุนัข พันธุ์ ชิสุ



          เพราะภาพลักษณ์หมาน้อยตากลมโต ผูกโบว์ที่หน้าผาก มีขนยาวสวย ดูสง่างาม ขนาดพอเหมาะ พาไปไหนมาไหนได้ไม่ลำบาก แถมยังนิสัยเป็นมิตร ขี้เล่น และช่างประจบ เลยทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยหลงใหลได้ปลื้มเจ้าสุนัขพันธุ์ "ชิสุ"และเลี้ยงเป็นสมาชิกสี่ขาประจำครอบครัวกันอย่างแพร่หลาย แต่รู้ไหมว่าประวัติความเป็นมาของ สุนัข ชิสุ น่ะ เป็น ถึง 1 ใน 3 สุนัข ชั้นสูงจากจักรพรรดิจีนเชียวนะ
ทั้งนี้ บรรพบุรุษของ สุนัข ชิสุห์ นั้น มีการคาดเดาว่ามีต้นกำเนิดจากทิเบต เนื่องจากตามประวัติศาสตร์ของชาวทิเบตถือว่าสิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา พระชาวทิเบต (Lama) จึงได้ผสม สุนัข พันธุ์เล็กขึ้นมาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิงโต ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าลักษณะขนแผงคอของ ชิสุ จะเหมือนกับสิงโต อีกทั้งท่าทางการเดินหรือการเคลื่อนไหวก็แลดูสง่างาม และชื่อ "ชิสุ" (Shih Tzu) ซึ่งเป็นคำในภาษาจีน ก็แปลว่า สิงโต ด้วย

ต่อมาทิเบตได้ส่ง สุนัข ชิสุ มาเป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน ซึ่งพระนางซูสีไทเฮา ทรงโปรดการเลี้ยง สุนัข มาก โดยมี สุนัข พันธุ์ปักกิ่ง ปั๊ก และชิสุ ที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากพระองค์ ชนิดหรูหราและฟุ่มเฟือย ในอดีตจึงเป็นที่รู้กันดีว่า ชิสุ เป็น สุนัข ที่มีชนชั้น นิยมเลี้ยงกันเฉพาะในราชสำนักของและนับเป็นสิ่งสูงค่าสำหรับสามัญชน
ในปี ค.ศ.1908 เมื่อพระนางซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์ สุนัข ชิสุ ทรงเลี้ยงในพระราชวังก็กระจัดกระจายหายไป แต่ก็มี ชิสุ บางส่วนที่ถูกลักลอบนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ ทำให้ ชิสุ ขยายพันธุ์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ และทั่วยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันถึงปัจจุบัน เนื่องจาก ชิสุ เป็น สุนัข พันธุ์เล็ก อีกทั้งมีของลักษณะขนและหน้าตา ที่จะสร้างความเพลิดเพลินในการเลี้ยงดูของเจ้าของที่ชอบแต่งตัวให้ สุนัข แต่คงไม่เหมาะนักสำหรับเจ้าของที่ไม่มีเวลา

ลักษณะทั่วไปของ สุนัข ชิสุ
ชิสุ เป็น สุนัข ขนาดเล็กในกลุ่มทอย (Toy Group) มีน้ำหนักประมาณ 4.5 - 7.5 กิโลกรัม (หรือราว 10 - 16 ปอนด์) ส่วนสูงประมาณ 25 - 27 ซม. (หรือราว 10 - 11 นิ้ว) ทั้งนี้ ชิสุ มีลักษณะนิสัย กล้าหาญ มีความตื่นตัว ขี้ประจบ มีความสง่าอยู่ในตัว เดินหน้าเชิด การย่างก้าวสง่าผ่าเผย นอกจากนี้ ชิสุ ยังรักความสะอาด เป็นมิตรกับทุกคน ปรับตัวได้ดี และชอบที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับเจ้าของในทุกเรื่อง แล้วก็ไม่ชอบถูกทิ้งไว้ในบ้าน

ข้อบกพร่องของสายพันธุ์ ชิสุ
ข้อบกพร่องของ ชิสุห์ ที่จัดว่าร้ายแรงตามมาตรฐานของ AKC : American Kennel Club (สมาคมสุนัขแห่งสหรัฐอเมริกา) ที่ยอมรับกันทั่วโลก มีดังนี้

- ศีรษะแคบเกินไป
- ฟันบนเกยฟันล่าง
- ขนสั้น หรือขนที่ได้รับการขลิบให้สั้น
- จมูกหรือหนังบริเวณขอบตาสีชมพู
- ดวงตามีขนาดเล็กหรือมีสีจาง
- ขนบาง ไม่ดกหนา
- มุมหักตรงช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูกและหน้าไม่เด่นชัด

อาหารและการเลี้ยงดู สุนัข ชิสุ

ชิสุห์ มีอายุค่อนข้างยืนยาว คือประมาณ 10-18 ปี ตามแต่ปัจจัยต่างๆ เช่น อาหาร และการเลี้ยงดู โรคที่มักเกิดขึ้นกับ ชิสุ คือโรคตาแห้ง โรคหูน้ำหนวก หูอักเสบ โดยเจ้าของควรหมั่นทำความสะอาดตาและหูของ ชิสุ อย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของมันโดยเฉพาะ ส่วนโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับ ชิสุ ได้ เช่น โรคนิ่ว โรคไต และไส้เลื่อน

ปกติ ชิสุห์ จะเป็นมิตรกับคน นิ่งและดูสงบ ดูจะเป็น สุนัข อารมณ์ศิลปินซะด้วย หลายครั้งที่พบว่า ชิสุ จะไม่เชื่อฟังเราถ้ามันไม่อยากทำซะอย่าง อย่างไรก็ตาม ชิสุ ก็ชอบวิ่งและรักความสนุกซึ่งเจ้าของจำเป็นจะต้องพามันออก ไปวิ่งออกกำลังกายบ้าง

นอกจากนี้ ขนเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความสวยงามของ ชิสุ โดยเฉพาะ ชิสุห์ เป็น สุนัข ขนยาว ที่จะต้องดูแลมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีขนเส้นเล็กและพันกันได้ง่าย หากไม่รู้จักวิธีการรักษาขนให้ดี ขนของ ชิสุ จะพันกันและมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังได้ง่ายๆ
ทั้งนี้ การแปรงขนอย่างสม่ำเสมอทุกวันจะช่วยให้ผิวหนังและขนสะอาดของ ชิสุ เป็นเงางาม เพราะมีการนวดให้ต่อมน้ำมันที่โคนขนขับน้ำมันออกมาเคลือบเส้นผมได้มากขึ้น ทำให้ผิวหนังมีสุขภาพสมบูรณ์ และยังเป็นการช่วยขจัดรังแคและสิ่งสกปรกอื่นออกจากผิวหนังของ ชิสุ ด้วย

อาหารที่เหมาะกับเจ้า ชิสุ สุดสวย ควรเป็นอาหารเม็ดมากกว่าอาหารกระป๋อง เพราะ สุนัข มีขนยาว หากให้กินอาหารกระป๋องจะทำให้เลอะหนวดเครา เหม็นคาว ทำให้ต้องทำความสะอาดกันทุกครั้งไป และหากล้างออกไม่หมดก็จะกลายเป็นที่สะสมของเชื้อโรค อีกทั้งถ้าให้อาหารกระป๋องต้องใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อสุขภาพของ ชิสุ ของคุณได้
ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะที่สุดเห็นจะเป็นอาหารเม็ด ทั้งนี้ การเลือกซื้อควรเลือกประเภทสำหรับ สุนัข พันธุ์เล็ก โดยเลือกดูให้เหมาะกับช่วงวัยของ ชิสุ ด้วย เช่น ถ้าเป็นอาหารลูก สุนัข ข้างถุงจะพิมพ์ไว้ว่า Puppy มีโปรตีนมากกว่า เม็ดจะเล็กกว่า และจะแพงกว่าอาหาร สุนัข โตนิดหน่อย

อย่างไรก็ตาม อาหารปรุงเองก็สามารถให้ ชิสุ ได้ แต่ควรดูความเหมาะสมของสารอาหารที่ให้ และการสร้างอุปนิสัยที่ดี เพราะหากให้กินพร่ำเพรื่อ สุดท้ายเจ้า ชิสุ ตัวโปรดของคุณก็จะติดนิสัยขออาหารที่ครั้งที่เห็นคนกิน ดังนั้นต้องใจแข็งไว้นะคะ ควรให้อาหารเป็นเวลาจะดีกว่า แล้ว ชิสุห์ ของคุณไม่มีปัญาหาสุขภาพตามมาด้วย

โรคและวิธีการป้องกัน

โรคตาแห้ง เป็นโรคที่มักเกิดกับ สุนัข ชิสุห์ เพราะมีดวงตากลมโต ลูกตาเปิดกว้าง ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุกับดวงตาด้วย ทั้งนี้ อาการของโรคตาแห้ง คือน้ำตาน้อย ก็ต้องรักษาด้วยการหยอดตาต่อเนื่อง อาจจะนานๆ ครั้ง หรือไม่ก็ตลอดชีวิต สำหรับการดูแลรักษา อย่างแรกเลยผู้เลี้ยง ควรเจ้าของควรหมั่นทำความสะอาดตาอย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะ และเมื่อเห็นความผิดปกติของลูกตาให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะ ถ้าทิ้งไว้นาน อาจทำให้ติดเชื้อ แก้วตาละลาย ถึงขั้นตาบอดได้ อีกอย่างถ้าพามาตั้งแต่แรกเริ่มก็จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่สูงมากนัก

โรคหูน้ำหนวก หูอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบของช่องหูภายนอกที่เรียกว่า "otitis externa" เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการของ สุนัข ชิสุ ที่ป่วยหูอักเสบ ได้แก่ มีกลิ่นเหม็น ชอบเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม ในบางตัวอาจมีสิ่งคัดหลั่งออกมาจากช่องหู ฯลฯ

สำหรับวิธีการป้องการที่ดีที่สุด คือการรักษาความสะอาด ควรตรวจสอบช่องหูของ สุนัข ชิสุห์ ทุกสัปดาห์ สุนัข บางตัวมีขี้หูน้อย บางตัวก็มีมาก แตกต่างกันไป ควรใช้สำลีหรือผ้านิ่มๆ เช็ดบริเวณรูหูส่วนนอก และใบหูเป็นประจำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ถ้าพบว่า สุนัข ของคุณสะบัดหู หรือเกาหูบ่อย ก็ให้นำไปพบสัตวแพทย์ เพราะอาจมีแมลงเข้าหูหรืออาจเกิดโรคหูอักเสบขึ้น

นอกจากนี้ ชิสุห์ ยังมีโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคนิ่ว โรคไต โรคผิวหนัง และไส้เลื่อน ทางที่ดีผู้เลี้ยงควรฉีดวัคซีนให้ สุนัข ตามกำหนดให้ครบ และใส่ใจเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย และหากผิดความผิดปกติใดๆ ก็ตามควรรีบพา สุนัข แสนรักไปพบแพทย์เพื่อได้รรับการวินัจฉัยและการรักษาที่ตรงจุดต่อไป

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

เคล็ดลับการดูแลสุนัข

เคล็ดลับในการดูแลขนและผิวหนังน้องหมา

 
 
 
 

การอาบน้ำน้องหมา

ควรอาบน้ำให้น้องหมาทุก 1-2 สัปดาห์ ด้วยแชมพูที่อ่อนโยน ไม่มีสารเคมีที่ระคายเคืองผิว ไม่ควรอาบน้ำน้องหมาบ่อยจนเกินไปนัก เพราะจะทำให้ไขมันที่ผิวหนังผลิตออกมาเคลือบเส้นขนและผิวหนังลดลง อาจจะทำให้ผิวหนังและเส้นขนหยาบแห้งได้ อีกทั้งยังอาจทำให้มีสะเก็ดรังแคและเป็นโรคผิวหนังตามมาได้ ยกเว้นในกรณีที่น้องหมาเป็นโรคผิวหนังที่อาจจะอาบน้ำได้บ่อยขึ้น (อาบด้วยแชมพูยา)
เจ้าของไม่ควรเอาแชมพูน้องหมาราดหลังโดยตรง ควรเอาแชมพูเทใส่ถ้วยเล็กๆและเจือจางด้วยน้ำเปล่าเล็กน้อยก่อน แล้วจึงค่อยเอาแชมพูที่เจือจางแล้วชโลมลงบนตัวน้องหมา ควรฟอกแชมพูทิ้งไว้ 5-10 นาที (โดยเฉพาะแชมพูยา) เพื่อให้แชมพูมีเวลาได้สัมผัสกับผิวหนังและได้ออกฤทธิ์เต็มที่ แล้วจึงค่อยล้างน้ำออกให้สะอาด จากนั้นใช้ผ้าขนหนูแห้งหรือผ้าชามัวร์ซับน้ำให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แล้วใช้ไดร์ที่ลมอุ่นเล็กน้อยช่วยเป่าให้ขนแห้งสนิท ถ้าไม่มีไดร์ก็พยายามใช้ผ้าเช็ดตัวให้แห้งที่สุด ถ้าเป็นน้องหมาขนยาวก่อนจะใช้ไดร์เป่าขน อาจใช้ครีมบำรุงขนลูบตามตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นขนหยาบแห้งเพราะโดนความร้อนจากไดร์

การแปรงขนน้องหมา

เจ้าของหลายท่านอาจจะละเลยเรื่องการแปรงขนน้องหมา สนใจแต่เรื่องอาบน้ำน้องหมาเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วการแปรงขนน้องหมานั้น คือเคล็ดลับหนึ่งที่สำคัญมากในการทำให้น้องหมามีขนที่นุ่มและเงางาม การแปรงขนนั้นจะช่วยกระตุ้นให้เซลล์ผิวหนังมีการขับไขมันออกมาเคลือบผิวหนังและเส้นขน ทำให้เส้นขนนุ่มและเงางามขึ้น นอกจากนี้การแปรงขนยังช่วยในการกำจัดขนที่หลุดร่วงหมดอายุ และช่วยลดการเกิดปัญหาขนพันกันหรือสังกะตังไปด้วย ควรแปรงขนน้องหมาเป็นประจำทุกวัน หรืออย่างน้อยทุก 2-3 วัน โดยเฉพาะน้องหมาที่มีขนยาวค่ะ
การเลือกแปรงหวีขนน้องหมา เราควรเลือกชนิดและซี่ของขนแปรงหวีขนน้องหมา ให้เหมาะกับตัวสภาพขนของน้องหมาด้วย ซึ่งหวีแต่ละแบบจะมีดังนี้ค่ะ
  • หวีซี่ (Comb) ส่วนใหญ่ซี่หวีจะทำจากโลหะ จะมีความถี่ซี่หวีแล้วแต่รุ่น บางรุ่นอาจจะมีซีกหนึ่งเป็นแบบซี่หวีห่าง อีกด้านก็จะมีซี่หวีถี่กว่า อาจจะมีด้ามจับหรือไม่มีด้ามจับก็ได้ มีหลากหลายราคา ขึ้นกับชนิดและความแข็งของเนื้อโลหะที่นำมาผลิตหวี หวีชนิดนี้เหมาะสำหรับน้องหมาที่มีขนยาวปานกลางถึงยาวมาก ใช้สำหรับหวีสางขน กำจัดขนพันกัน และหวีจัดแต่งขนน้องหมา
  • แปรงเข็ม (Pin brush) จะมีทั้งแบบที่ไม่มีหมุดตรงปลาย และแบบที่มีหมุดตรงปลาย (Wire pin brush) โดยแบบที่ไม่มีหมุดตรงปลาย จะเหมาะสำหรับน้องหมาขนยาวหรือเส้นขนเล็กบาง ใช้สำหรับแปรงขนและช่วยสางขนที่พันกันออกได้บ้าง ส่วนแบบที่มีหมุดตรงปลายจะเหมาะสำหรับน้องหมาที่มีขนสั้นถึงยาวปานกลาง มีขนสองชั้น หรือกำลังผลัดขน เพราะหมุดตรงปลายจะช่วยในการดักจับขนที่ตายแล้ว ให้หลุดออกมา และปุ่มหมุดเหล่านี้จะช่วยนวดผิวหนัง ช่วยกระจายน้ำมันที่ผิวหนังผลิตขึ้นมาไปเคลือบเส้นขน
  • แปรงขนสัตว์ (Bristle brush) โดยมากมักทำจากขนหมูป่า เหมาะสำหรับน้องหมาที่มีขนสั้น แปรงชนิดนี้จะช่วยกวาดขนที่ตาย และเศษฝุ่นละอองที่ติดตามขนออกไป และช่วยในการกระจายน้ำมันที่ผิวหนังผลิตขึ้นมา กระจายไปเคลือบเส้นขนให้เงางาม
  • แปรงผสม (Pin/Bristle brush) เป็นแปรงที่มีสองด้าน ด้านหนึ่งจะเป็นแปรงขนสัตว์ อีกด้านจะเป็นแปรงเข็ม เหมาะสำหรับน้องหมาขนสั้นถึงขนยาวปานกลาง มีขนสองชั้น หรือกำลังผลัดขน
  • แปรงสลิคเกอร์ (Slicker brush) เหมาะสำหรับน้องหมาที่มีขนหยิกฟู หรือมีขนยาวที่มีแนวโน้มปัญหาขนพันกัน ใช้สำหรับสางขนตาย หรือขนที่พันกัน อาจใช้ร่วมกับหวีซี่
  • หวีสางสังกะตัง (Mat comb) หวีชนิดนี่จะมีใบมีดอยู่ตรงซี่หวีด้วย ใช้สำหรับสางขนที่พันเป็นสังกะตังมาก ที่หวีแปรงชนิดอื่นสางไม่ได้ โดยใบมีดจะช่วยตัดขนที่พันกันออกไป ดังนั้น น้องหมาอาจจะมีขนบางลงในตำแหน่งที่ใช้หวีชนิดนี้มาแปรง

อาหารและอาหารเสริมน้องหมา

คุณภาพอาหารนั้นส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพเส้นขนและผิวหนังของน้องหมา น้องหมาที่ทานอาหารที่มีคุณภาพดีและมีสมดุลโภชนาการ ก็มักจะมีขนที่สวยเงางามกว่า ขนหลุดร่วงน้อยกว่าน้องหมาที่กินอาหารคุณภาพต่ำ หรือไม่ได้สมดุลโภชนาการ ดังนั้นเจ้าของก็ควรจะเลือกอาหารที่มีคุณภาพดีให้น้องหมาทาน อย่ามัวแต่คำนึงถึงแต่ราคาอาหารน้องหมานะคะ
น้องหมาบางตัวอาจจะมีความต้องการสารอาหารมากกว่าน้องหมาทั่วๆไป หรืออาจจะกำลังเป็นโรคผิวหนังอยู่ ดังนั้นในบางกรณีจึงอาจจะให้อาหารเสริมสำหรับบำรุงเส้นขนและผิวหนังแก่น้องหมา ซึ่งก็มีขายอยู่หลากหลายยี่ห้อและมีทั้งในรูปแบบเม็ด แบบน้ำ และแบบเจลค่ะ




  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

หมาน้อย ชิบะ อินุ

ประวัติ

สุนัขชิบะ อินุ (Shiba Inu) เป็นสุนัขที่มีไว้ใช้ล่าสัตว์เล็กๆ เช่น นก กระต่าย เป็นต้น และ Shiba Inu ยังเคยเกือบสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากทั้งระเบิดและการแพร่ระบาดโรค จึงทำให้มีเพียงสามสายเลือดเท่านั้นที่รอดตาย คือ สายเลือด Shinshu Shiba จากจังหวัดนากาโน่, Mino Shiba จากจังหวัดไอจิและ San'in Shiba จาก Tottori และจังหวัด Shimane ในกลางศตวรรษที่ 20 ทั้งสามสายพันธุ์นี้ได้ถูกรวมกันเป็นสายพันธุ์ที่ได้ถูกพัฒนาขึ้น
 
 
สุนัขชิบะ อินุ (Shiba Inu) เป็นมาตรฐานสายพันธุ์แรกของญี่ปุ่น สำหรับพันธุ์ Shiba Inu ถูกตีพิมพ์ในปี 1934 ในเดือนธันวาคม 1936 Shiba Inu ได้รับการยอมรับและตั้งเป็นอนุสาวรีย์ของญี่ปุ่นผ่านกฎหมายทางทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่เป็นความพยายามของ Nippo (Nihon Ken Hozonkai) คือ สมาคมเพื่อการอนุรักษ์ของสุนัขญี่ปุ่น

สุนัขชิบะ อินุ (Shiba Inu) เป็นสุนัขในตระกูลเดียวกันกับสุนัขอาคิตะ (Akita) ซึ่่งเป็นสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่หลายๆคนน่าจะคุ้นกับรูปปั้น Hachiko สุนัขกตัญญู หน้าสถานีรถไฟชิบูยะ หรือ ภาพยนตร์เรื่อง Hachiko แต่ก็อย่าจำสับสนกัน เพราะว่า สุนัขชิบะ อินุ (Shiba Inu) นั้น มีขนาดเล็กกว่า สุนัขอาคิตะ (Akita) ถึงครึ่งนึงเลยทีเดียว                                           
                                                                                   (ฮะจิ สุนัขพันธ์อาคิตะ)
ลักษณะทั่วไป
สุนัขชิบะ อินุ (Shiba Inu) ลักษณะคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก ขั้นสั้น ตัวป้อม หูตั้ง ดวงตาดูเหมือนตายิ้มตลอดเวลา มีขนาดเล็ก สีขนอาจจะมีสีแดง ดำ น้ำตาล หรือสีงา (สีแดงและมีขนสีดำปลายแหลม) กับครีม, ขนสีเทาหรืออาจมีครีมบ้างแต่สีนี้ถือว่า "ผิดหลัก" และไม่ควรที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์

เพศผู้ ส่วนสูง โดยประมาณ 35-43 cm น้ำหนัก 10 kg
เพศเมีย ส่วนสูง โดยประมาณ 33–41 cm น้ำหนัก 8 kg
 
อุปนิสัย
สุนัขชิบะ อินุ (Shiba Inu) เป็นสุนัขที่ฉลาด ร่าเริงแจ่มใส (ดูจากใบหน้าของเค้าแลดูยิ้มตลอดเวลา) คล่องแคล่ว ปราดเปรียว ว่องไว รักอิสระ เอาแต่ใจเล็กๆ บางครั้งอาจจะอยากเป็นหัวหน้าเรา เพราะฉะนั้นเจ้าของจะต้องสอนและฝึกเขาดีดีค่ะ

ส่วนใครที่มีเด็กๆ เป็นสมาชิกในครอบครัวและอยากจะหาสัตว์เลี้ยงเอาไว้เป็นเพื่อนล่ะก็ ชิบะ อินุ เป็นสุนัขที่เหมาะมากๆ เลยล่ะค่ะ เพราะเขามีนิสัยอ่อนโยนและเป็นมิตรกับเด็ก


สถานที่เหมาะสม

สุนัขชิบะ อินุ (Shiba Inu) เหมาะที่จะเลี้ยงในบ้านเพราะมีลำตัวไม่ใหญ่มาก และShiba ก็สามารถเข้ากับสมาชิกทุกคนในบ้านได้ง่ายและเป็นอย่างดี แต่ถ้าเทียบกับสุนัขอาคิตะ (Akita) นั้นจะเลือกนายผู้เป็นที่รักเพียงผู้เดียว
 
ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ 
 
     สุนัขสายพันธุ์นี้จะมีโรคประจำสายพันธุ์เกี่ยวกับโรคต้อหิน ต้อกระจก สะโพก กระดูกสะบ้า ค่ะ


การออกกำลังกาย

ควรพาเดินหรือออกกำลังกายวิ่งเล่น และควรทำเป็นประจำให้เป็นกิจวัตรประจำวัน   


ช่วงชีวิต

มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 12-15 ปี แต่มีสายพันธุ์ Shiba Pusuke ได้รับการออกกำลังอยู่เป็นประจำ ทำให้มีร่างกายแข็งแรง
 
 
 
 

                         
 
****น่ารักสุดๆไปเลยใช่ไหมละหมาน้อยชิบะ อินุ เนี้ย!!!!!!!!****
 
 

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS

10 อันดับ สายพันธ์น้องหมาที่เหมาะกับครอบครัว


นี่คือ 10 สายพันธุ์ ที่มีการยอมรับกันว่าเหมาะกับหลายๆครอบครัวด้วยอุปนิสัยของสุนัขที่ฉลาด ขี้เล่น และใจดี ลองใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเลือกรับน้องหมาเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัวคุณค่ะ


10 . Collie

คอลลี เป็นสุนัขที่ชาญฉลาดมาก และชอบที่จะสุงสิงกับคน เพราะฉะนั้นการฝึกสุนัขพันธุ์นี้ จึง ไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะทิ้งให้อยู่หลังบ้านตามลำพังเพราะเขาจะรู้สึกขาดความรัก และรู้สึกถูกทอดทิ้งซึ่งจะทำให้เขาซึมเศร้าไป สุนัขพันธุ์นี้รักความสะอาดและเหมาะจะเป็นเพื่อนที่ดีกับเด็กๆ คอลลี ชอบอยู่ร่วมกับสุนัขตัวอื่นๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นเพศตรงข้าม และถ้าหากคุณมีสัตว์เลี้ยงตัวเล็ก ๆ ต้องเข้าใจว่าสัญชาตญาณของสุนัขเฝ้าแกะ สัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่เหมือนจะชอบวิ่งหนีก็จะถูกต้อนไปยังที่ใดที่หนึ่งซึ่งเขา ได้เล็งไว้


9 . Poodle

ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ขนาดใด ทุกคนจะรู้ถึงความเฉลียวฉลาดของ พุดเดิล เป็นอย่างดีพวกเขาดูมีชีวิตชีวาฉลาด ร่าเริง ช่างประจบ เต็มไปด้วยมิตรภาพและเป็นผู้คุ้มกันที่ยอดเยี่ยม

8 . Newfoundland

เป็นสุนัขที่มีขนาดใหญ่มากพันธุ์หนึ่ง มีขนหนา สามารถทนต่ออากาศที่หนาวเย็นได้ นิยมเลี้ยงในแถบยุโรป และอเมริกา ฉลาด ใจดี กล้าหาญ และซื่อสัตย์ เป็นมิตรกับเด็กๆ

7 . Pug

ปั๊ก เป็นส่วนผสมที่สมบูรณ์แบบของสุนัขตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งที่ดึงดูดเราให้ต้องหลงไหล ทั้งความแข็งแกร่ง และความกล้าหาญ ที่มีอยู่ใน ปั๊ก สุนัขที่น่ารักพันธุ์นี้ ถ้าคุณมีพื้นที่น้อย หรืออาศัยในห้องชุด ปั๊ก จะเป็นคำตอบสำหรับคุณ พวกเขาไร้ซึ่งกลิ่นอับ ที่อาจพบในสุนัขเล็กพันธุ์อื่น มีขนที่สั้นและไม่ค่อยมีการพลัดขน จึงเป็นสุนัขที่ค่อนข้างสะอาด

6 . Australian Shepherd

สุนัขสายพันธุ์ Australian Shepherd เคยเป็น สุนัขต้อนแกะ หาของและช่วยชีวิตคน เป็นสุนัขตามสบายไปเรื่อยๆ รักสงบและไร้กังวล เป็นลูกสุนัขตลอดกาล รักการเล่น กล้าหาญ ซื่อสัตย์และมีความรัก เมตตา พวกเขาเป็นเพื่อนเด็กๆที่ดีเลิศ ซึ่งเขาจะกระตือรือร้นกับเด็กมาเป็นเพื่อน และเขาเป็นผู้อารักขาที่เสียสละ เพราะเขา มีนิสัยชอบอารักขา มีชีวิตชีวามาก ว่องไว ปราดเปรียว ฉลาดและตั้งใจ
พวกเขาชอบการให้คนพอใจ มีสัมผัสที่ 6 เกี่ยวกับความต้องการของเจ้านาย พวกเขามีสติปัญญาสูง และฝึกง่าย แม้ว่าจะมีความก้าวร้าวเมื่อทำงานกับปศุสัตว์ เขาเป็นเพื่อนของคนที่สุภาพอ่อนโยน Australian Shepherd ต้องการออกกำลังกายมากและต้องการทำงาน เนื่องจากสายพันธุ์นี้ฉลาดมาก กระตือรือร้นและเบื่อง่าย แต่ที่ดีคือไม่เหนื่อยง่ายเวลาทำงานแถมรักเจ้าของอีกด้วย จึงเหมาะที่จะเป็นสุนัขครอบครัว

5 . Shiba Inu

ชิบะอินุ เป็นสุนัขสายพันธุ์ญี่ปุ่น ลักษณะนิสัยจะคล้ายบีเกิ้ล เป็น active dog กระตือรือร้น รักสะอาด และรักเด็ก


4 . Beagle

บีเกิ้ล เป็นสุนัขที่มีความจงรักภักดีสุภาพแต่ก็แข็งแรงและอึดได้เท่าที่คุณจะใส่ใจฝึกให้พวกเขาเป็น และเขายังเป็นเพื่อนเล่นของเด็กได้เป็นอย่างดี ด้วยความที่รักและเชื่อฟังผู้เป็นเจ้านายบีเกิ้ลไม่เคยแสดงความหงุดหงิด หรือก้าวร้าวไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดๆบีเกิ้ลคือสุนัขล่าสัตว์ที่มีแต่ความสุขมีความสามารถมากมายและปรับตัวง่ายไม่ว่าจะถูกใช้ในการไล่ล่าสัตว์ในตอนเช้า เป็นเพื่อนเล่นของเด็กๆ ในตอนบ่ายแล้วยังนำมาอุ้มเล่นในตอนเย็นได้อีก


3 . Irish Setter

โดยธรรมชาติแล้ว สุนัขพันธุ์ อิงลิช เซตเทอร์ เป็นสุนัขที่เป็นมิตรมาก พวกเขาสุภาพกับสุนัขตัวอื่น เป็นสุนัข ที่น่ารักและซื่อสัตย์ ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็สามารถเป็นเจ้าของพวกเขาได้ สุนัขพันธุ์นี้มีพื้นฐานทาง อารมณ์คงที่ สมแล้วที่ได้รับฉายาว่าเป็นสุภาพบุรุษสุนัขหรือสุภาพสตรีสุนัขของโลกทีเดียว มีรายการโทรทัศน์ชื่อดังรายการหนึ่งจัดเขาเป็นหนึ่งในสิบอันดับสุนัขที่น่า เลี้ยงที่สุด สุนัข พันธุ์นี้ต้องการความรักความเอาใจใส่จากเจ้าของอย่างมาก หากถูกเลี้ยงอย่างปล่อยปละละเลยเป็นเวลานาน เขาจะกลาย เป็นสุนัขที่มีปัญหาได้

2 . Labrador Retrievers

สุนัขพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ เป็นสุนัขที่ฉลาดหลักแหลม กระตือรือร้น รักสนุก ช่างเอาอกเอาใจเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กประกอบกับการที่เป็นสุนัขเฝ้ายามที่ดีเนื่องจากมีเสียงเห่าทุ้มและ หนักแน่น เป็นที่น่าเกรงขามเพื่อเตือนเมื่อมีผู้บุกรุก เหมาะมากสำหรับการเข้ากับสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น

1 . Golden Retrievers

โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เป็นอันดับหนึ่งในใจของหลายๆคน เป็นสุนัขที่ฉลาด น่ารัก ร่าเริงและเต็มไปด้วยพลังและมีบุคลิกใจดี แม้จะมีสัญชาตญาณในเก็บคาบเป็นยังลักษณะประจำพันธุ์ที่สำคัญ ความกระตือรือร้นและความสามารถใน ปรับตัวเข้ากับสิ่งต่างๆ ทำให้เขาเป็นสายพันธุ์ที่ใช้ใน กิจกรรมหลากหลาย และไม่เป็นอันตรายกับคนแปลกหน้า

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS